วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านการพูดและภาษา

ความบกพร่องทางการพูดและภาษา
เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการพูดและภาษา

       เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา หมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการพูดทั้งในเรื่องการเข้าใจภาษาที่คนอื่นพูดและพูดให้คนอื่นเข้าใจ เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการรับรู้และเรียนรู้พัฒนาทักษะทุกๆ ด้าน
ความบกพร่องทางการพูดและภาษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.      กลุ่มที่พัฒนาภาษาและการพูดล่าช้าหรือไม่สมวัย ได้แก่
-          เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
-          เด็กสมองพิการ
-          เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์
-          เด็กเชาว์ปัญญาต่ำ
-          เด็กที่ขาดกรกระตุ้นการพัฒนาภาษาและการพูดจากครอบครัวและสิ่งแวดล้อม
2.      กลุ่มเด็กอะเฟเซีย ( aphasis )
เป็นส่วนอาการที่แสดงถึงความบกพร่องทางภาษา อันเกิดจากสมาธิสภาพของสมองส่วนที่ควบคุมภาษาทำให้มีปัญหาทางภาษาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน แบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
2.1    อะเฟเซียชนิดมีปัญหาทางด้านการรับรู้ทางภาษาเป็นปัญหานำ
2.2    อะเฟเซียชนิดมีปัญหาทางด้านการแสดงออกทางภาษาเป็นปัญหานำ
2.3    อะเฟเซียชนิดมีปัญหาในการนึกคำพูด
2.4    อะเฟเซียชนิดมีปัญหาทางด้านการรับรู้ทางภาษาและการแสดงออกททางภาษา
การให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาทางการพูด
            การให้ความช่วยเหลือหรือการแก้ไขความบกพร่องทางการพูดและภาษาจะมีความแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของปัญหา หลังจากที่พบความบกพร่องแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.      เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ควรพบกับ
-          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทาง หู คอ จมูก
-          นักแก้ไขการพูด
-          นักโสตสัมผัสวิทยา
-          นักการศึกษาพิเศษ
2.      เด็กสมองพิการ  ควรพบกับ
-          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางประสาทสัมผัสวิทยา
-          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกายภาพบำบัด
-          นักแก้ไขการพูด
-          นักกายภาพบำบัด
-          นักการศึกษาพิเศษ
3.      เด็กออทิสติก  ควรพบกับ
-          จิตแพทย์เด็ก
-          นักแก้ไขการพูด
-          นักกายภาพบำบัด
-          นักการศึกษาพิเศษ
4.      เด็กเชาว์ปัญญาต่ำ  ควรพบกับ
-          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาการเด็ก
-          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางกายภาพบำบัด
-          นักแก้ไขการพูด
-          นักกายภาพบำบัด
-          นักการศึกษาพิเศษ
5.      เด็กที่ขาดกรกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม  ควรพบกับ
-          นักแก้ไขการพูด
-          นักการศึกษาพิเศษ

แนวทางและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กบกพร่องทางภาษาและการพูด
1.      การสื่อความหมาย
1.1  การสื่อความหายโดยใช้ท่าทางหรือภาษามือ
ข้อดี
-          เรียนรู้ได้ง่าย สื่อสารได้รวดเร็ว
-          สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
-          เริ่มเรียนเมื่อไหร่ก็ได้
ข้อจำกัด
-          ภาษามือจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในสังคมคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
-     การสื่อความหมายโดยใช้ภาษมือมีความจำกัดเฉพาะลักษณะของภาษามือมักเป็น code หรือสัญลักษณ์ ไม่สามารถสื่อความหมายได้ละเอียดเหมือนภาษาพูด
-          ไม่มีลูกเล่นทางภาษา เช่น คำเปรียบเทียบ อุปมา อุปมัย คำพังเพย เป็นต้น
-     ผู้ที่สื่อความหมายโดยใช้ภาษามือจะมีโอกาสเลือกทางการศึกษาและประกอบอาชีพได้น้อยกว่าผู้ที่ใช้ภาษาพูด
1.2     การสื่อความหายโดยใช้การฟังหรือภาษาพูด
ข้อจำกัด
-          การฝึกสอนให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดหัดออกเสียงพูดจะต้องเริ่มการกระทำตั้งแต่อายุน้อยๆ
-          การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการฟังและการพูดจะต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก จะต้องทำการฝึก
อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง

การแก้ไขการพูด (Speech Therapy)
     การแก้ไขการพูด (Speech Therapy) คืออะไร
ปัญหาเรื่องการพูดนับเป็นปัญหาที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ลูกพูดช้า พูดไม่ชัด พูดภาษาแปลกๆ หรือลูกไม่พูด การสังเกตเห็นอาการ เหล่านี้มักทำให้เกิดข้อสงสัย หรือคำถามมากมาย ในใจคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่าน ดังนั้น เพื่อให้ได้รับ คำตอบหรือคำอธิบายที่ถูกต้องชัดเจน คุณพ่อคุณแม่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขการพูด หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "นักแก้ไขการพูด"
การแก้ไขการพูด เป็นการบำบัดรักษา และแก้ไขความบกพร่องที่เกิดจากการใช้อวัยวะใน การพูดหรือความบกพร่องทางสมองในบางด้านที่ส่งผลกระทบต่อการพูด การได้ยิน และการออกเสียงที่ทำให้ ลูกน้อยไม่สามารถพูดได้ตามพัฒนาการปกติของวัย
โดยส่วนมากปัญหาที่เกี่ยวกับการพูด สามารถแบ่งออก เป็น 2 ด้าน คือ
 ปัญหาด้านภาษา : เมื่อทำการประเมิน พัฒนาการทางด้านภาษาของลูกจะสามารถบ่งชี้ได้ว่า ลูกพูดช้ากว่าเด็กปกติหรือไม่ พูดได้สมวัยหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เด็กวัย 1 ปี ควรพูดคำที่มีความหมายได้ และในวัย 3 ปี ควรพูดเป็นประโยคได้
 ปัญหาด้านการพูด : จะทำการประเมิน เรื่องความชัดเจนของการพูด ได้แก่ สามารถออกเสียง สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ได้ชัดเจนหรือไม่ จังหวะในการพูดเร็วหรือช้าเกินไปหรือไม่ พูดคล่องหรือไม่ หรือ เป็นปัญหาเรื่องของการใช้เสียงที่ไม่สมวัย เป็นต้น

 สาเหตุของปัญหาด้านการพูด
สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีปัญหาด้านการสื่อความหมาย ได้แก่
 เด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง หรือ อวัยวะที่ใช้ในการพูด ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีภาวะปาก แหว่งเพดานโหว่ เด็กที่มีเส้นยึดใต้ลิ้นสั้นกว่าปกติ เด็กที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน หรือเด็กปัญญาอ่อน ภาวะอาการดังกล่าวทำให้เด็กมีปัญหาด้านการพูดได้ เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด
 เด็กขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมขาดโอกาสในการพูด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการพูด ตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง หรือพี่เลี้ยงปล่อยให้เด็กดูแต่โทรทัศน์ หรือรู้ใจเด็กไปทุกอย่าง จึงทำให้เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูด และในที่สุดจะส่งผลให้เด็กไม่พูด หรือพูดช้าได้ ส่วนกรณีที่เด็กพูดไม่ชัด อาจเกิดจากการที่ไม่มีแบบอย่างการพูดที่ถูกต้อง หรือมีพี่เลี้ยงพูดไม่ชัด จึงทำให้เด็กพูดตามเสียงที่ได้ยินมาผิดๆ
 เด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการทางภาษา และสังคม อันได้แก่ เด็กออทิสติก เด็กแอสเพอร์เกอร์ เด็กสมาธิสั้น เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนมากเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาด้านการพูด และการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ปัญหาหลักที่พบในเด็กกลุ่มนี้นั้น จะอยู่ที่การมีความล่าช้าของพัฒนาการทางด้านภาษาซึ่งไม่สมวัย ร่วมกับการไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกันได้

 กระบวนการในการแก้ไขการพูด
ในเบื้องต้นนั้น นักแก้ไขการพูดจะต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาด้านภาษาและด้านการพูดของเด็ก แต่ละคน ซึ่งการที่เด็กมีปัญหาล่าช้าด้านการพูดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียม ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในด้านต่างๆ ของลูกมาด้วย เช่น ลูกพูดได้เมื่ออายุเท่าไหร่ หรือเคยพูดได้แล้วมาหยุด พูดไปเมื่ออายุเท่าไหร่ แต่ก่อนอื่นเด็กควรได้รับการตรวจวัดระดับการได้ยินเพื่อความแน่ใจว่า ปัญหาด้านการพูดของเด็กนั้นไม่ได้เกิดจากความบกพร่องด้านการได้ยิน
นอกจากนี้ การสังเกตพฤติกรรมของเด็กโดยผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นการช่วยค้นหาสาเหตุของปัญหาด้านการพูดได้อีกทางหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น ถ้าเด็กยังเล่นของเล่นไม่เป็น หรือขณะเล่นเด็กมีสมาธิสั้นมาก วอกแวกง่าย เดินมากกว่านั่งเล่น อาจกล่าวได้ว่า เด็กมีปัญหาด้านการพูดจากผลกระทบของภาวะอาการสมาธิสั้น ลำดับต่อไปควรทำการประเมินพัฒนาการด้านการรับรู้ภาษาว่าเด็กมีพัฒนาการอยู่ในระดับใด เหมาะสมกับวัยหรือไม่ ซึ่งอาจทำการประเมินด้วยแบบทดสอบมาตรฐานของ Boehm
อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบปัญหาด้านภาษาและการพูดของลูกน้อยว่าอยู่ในระดับใดนั้น ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร การปรึกษานักแก้ไขการพูดเพียงครั้ง สองครั้งอาจยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของปัญหาได้อย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็นและ มีความอดทน อีกทั้งยังต้องให้ความร่วมมือกับนักแก้ไขการพูดอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ
ส่วนวิธีการแก้ไขการพูดนั้นจะขึ้นอยู่กับปัญหาของเด็กแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กมีความบกพร่องในการใช้อวัยวะในการพูดนักแก้ไขการพูดก็จะแก้ไขโดยเน้นให้เด็กสามารถใช้อวัยวะต่างๆ ในการพูดได้ดีขึ้น เช่น การดูด การเป่า เลียริมฝีปาก แลบลิ้น เคี้ยว อ้า-หุบปาก ฯลฯ จากนั้นจึงฝึกวางลิ้นให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ฝึกเคลื่อนไหวริมฝีปากร่วมกับการผ่อนลมออกทางปากให้ถูกต้อง เป็นต้น หรือในกรณีเด็กยังพูดไม่ได้อาจจะเริ่มต้นให้เด็กรู้จักเอาลมออกจากปากก่อนโดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น กิจกรรมเป่านกหวีด เป่าฟองสบู่ เป่าเทียน เป็นต้น จากนั้นจึงทำการฝึกด้านการรับรู้ภาษาจนถึงการออกเสียงพูดตามลำดับ
โปรแกรมในการแก้ไขการพูดนั้นสามารถแบ่ง ได้อย่างกว้างๆ ออกเป็น 2 โปรแกรม คือ
 โปรแกรมที่จัดสำหรับเด็กที่มีความพร้อมในการแก้ไขการพูดแล้ว คือเด็กที่ได้รับการบำบัดเกี่ยวกับเรื่องปัญหาด้านอารมณ์มาแล้ว สามารถนั่งนิ่งๆ อยู่กับที่ได้นานพอสมควร (ประมาณ 20-30 นาที) และสามารถเข้าใจภาษาพูดของผู้อื่นได้ดีแล้ว
         โปรแกรมการสอนในเด็กกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อมด้านอารมณ์และการปรับตัว ซึ่งการสอนพูดในเด็กกลุ่มนี้จะกระตุ้นให้เด็กสนใจที่จะใช้การพูดสื่อความหมาย และควรได้รับการสอนเป็นรายบุคคล

          เมื่อเด็กได้รับการสอนพูดจากนักแก้ไขการพูดแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติคือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รับ โปรแกรมการสอนพูดจากนักแก้ไขการพูดควรนำไปฝึกพูดต่อที่บ้าน (ประมาณวันละ 5 - 15 นาที) นอกเหนือจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้สถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันสอนลูกพูด เพื่อทำให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และเข้าใจภาษาได้ดียิ่งขึ้น


นางสาวกมลวรรณ  ผุดผ่อง

นางสาวจิราพร  บุญจันทร์

นางสาวเบญจมาศ  รักษ์ทอง


นางสาวอนิษรา  ศรีบุญ